เลี้ยงหมู อาชีพที่น่าเห็นใจ

0
7197

ราคาหมูที่ปรับตัวขึ้นในช่วงเกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นตาม “กลไกตลาด” จาก “ดีมานด์และซัพพลาย” เหมือนกับราคาสินค้าเกษตรตัวอื่นๆ ที่มีขึ้นมีลงตามความสมดุลของปริมาณผลผลิต กับความต้องการบริโภคในช่วงเวลานั้นๆ

การเพิ่มขึ้นของราคาที่ว่ามานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การขึ้นลงของราคาเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งในวงการหมูเรียกกันว่า “วัฏจักรหมู” หรือ “วงจรราคาหมู” (Hog Cycle) จนมีสูตรที่เกษตรกรรู้กันดี คือ “อาชีพเลี้ยงหมูเสีย 3 ปี ดี 1 ปี” เป็นวังวนเดิมๆ ที่เกษตรกรต่างต้องเผชิญ

“เสีย 3 ปี ดี 1 ปี” หมายถึงช่วงราคาหมูตกต่ำ 3-4 ปี และมีช่วงที่ราคาดีแค่ 1 ปี ซึ่งช่วงที่หมูราคาดีนี้เองที่เกษตรกรส่วนใหญ่มักจะขยายการผลิตให้มากขึ้น เพราะคิดว่าตอนที่หมูราคาดีก็ต้องรีบผลิตจะได้ขายได้มาก และมีกำไรมากๆ แต่เมื่อทุกคนคิดเหมือนกันแบบนี้ ย่อมทำให้ปริมาณผลผลิตหมูทั้งประเทศสูงขึ้น เมื่อปริมาณหมูมากเกินความต้องการบริโภค ก็เข้าสู่ภาวะ “หมูล้นตลาด” ราคาขายจึงลดลงตามไปด้วย เหตุการณ์เช่นนี้พบในทุกสินค้า และเกิดขึ้นทั่วโลกตามภาวะกลไกตลาดนั่นเอง

วังวนเสียสามปีดีหนึ่งปี เป็นภาพสะท้อนว่าการเลี้ยงหมูเป็นอาชีพที่คนเลี้ยงมีรายได้ไม่แน่นอน เพราะต้องใช้เวลาเลี้ยงนาน มีต้นทุนสูง แถมยังคาดเดาสถานการณ์ราคาในแต่ละช่วงเวลาได้ยาก จึงไม่น่าแปลกใจว่าช่วงที่ขาดทุนเกษตรกรก็ต้องขาดทุนอย่างหนัก ดังนั้นส่วนใหญ่ของเกษตรกรในวงการนี้ จึงเป็นคนที่เลี้ยงมานานตั้งแต่รุ่นปู่ย่า-พ่อแม่ และต้องอาศัยประสบการณ์ที่มีมาแก้ไขปัญหาเพื่อให้อยู่รอด

ที่สำคัญวังวนวงจรหมูที่ว่านี้ แผลงฤทธิ์ให้ชาวหมูได้เจ็บช้ำ ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา จากภาวะขาดทุน ด้วยราคาหมูที่ตกต่ำอย่างหนัก ทำให้มีเกษตรกรมากถึง 20% จากจำนวนเกษตรกรทั่วประเทศ 2 แสนคน ที่ต้องเลิกเลี้ยงหมูไป เพราะแบกรับภาระขาดทุนไม่ไหว

ยิ่งเมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมหมูทั่วโลกต้องถูกท้าทายด้วยโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ที่สร้างความเสียหายให้กับวงการหมู โดยเฉพาะทั่วทั้งเอเชียที่มีหมูเสียหายเป็นจำนวนมาก เกิดเป็นความกดดันของเกษตรกรไทย และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อป้องกันไม่ให้โรคนี้เข้ามาทำลายวงการหมูไทยและภาคผู้ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ตลอดห่วงโซ่การผลิตที่มีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านบาท

แม้ว่า 2 ปีที่ผ่านมาไทยจะรอดพ้นจาก ASF มาได้อย่างสวยงาม จนกลายเป็นความสำเร็จในระดับภูมิภาค แต่ภาวะหมูล้นตลาด จนราคาหมูตกต่ำ และความหวั่นวิกตกับสถานการณ์ ASF ก็ทำให้มีเกษตรกรอีกมากกว่า 10% ตัดสินใจเลิกเลี้ยงหมูเพื่อปิดประตูเสี่ยง ทั้งหมดนี้ทำให้ปริมาณหมูไทยลดลง แต่กำลังการผลิตหมูขุนรวมที่ 50,000 ตัวต่อวัน ก็ยังคงเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ และไม่เคยขาดแคลนหมูอย่างที่ประเทศอื่นๆต้องเผชิญ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดที่เกษตรกรทุกคนตั้งใจปกป้องผู้บริโภคและอุตสาหกรรมหมูของพวกเขาไว้

วันนี้เกษตรกรทุกคนก็ยังคงยืนหยัดอาชีพนี้ และพยายามเดินหน้าการเลี้ยงหมูต่อไป แม้ว่าพวกเขาต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกกว่า 100 บาทต่อตัว ในการป้องกันโรค และมีต้นทุนเพิ่มจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น แต่พวกเขาก็ยืนยันสู้ต่อ แม้ว่าลมหายใจนักสู้ใกล้หมด อนาคตเริ่มริบหรี่ เพราะรายได้ที่มีจากการตรึงราคาหมูหน้าฟาร์มไว้ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม ในทุกวันนี้เพียงพอแค่ใช้หนี้เก่า สานต่ออาชีพให้ผ่านพ้นไปเพียงรุ่นต่อรุ่นเท่านั้น ไม่ใช่เม็ดเงินมหาศาลที่จะทำให้มีกำไรจนร่ำรวยอย่างที่หลายคนเข้าใจ

การปรับตัวขึ้นของราคาหมู จากการบริโภคในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว เป็นไปตามกลไกตลาดที่แท้จริง สะท้อนความต้องการของตลาดที่เกิดขึ้น แต่ดูเหมือนว่าเกษตรกรกำลังถูกบิดเบือนกลไกตลาด ถูกรั้งให้ต้องทำตามมาตรการที่ผูกรัดจนแน่นแทบหายใจไม่ออก จนพวกเขากำลังจะหมดแรง หมดกำลังใจ เกษตรกรเลี้ยงหมูจึงเป็นอาชีพที่น่าเห็นใจที่สุดในห้วงเวลานี้ ไม่อยากคิดถึงวันที่พวกเขาถอดใจ จนยอมเลิกอาชีพไป วันนั้นแม้จะปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรีแค่ไหน ก็คงไม่มีสินค้าพอให้คนไทยได้บริโภคแน่ ผลจะเป็นอย่างไรทุกคนคงรู้ดี