มติเอกฉันท์ ประกาศโควิด-19 เป็น ‘โรคติดต่ออันตราย’

0
5606

มติที่ประชุม คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเสียงเอกฉันท์ ประกาศ โควิด19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่14 เพื่อป้องกันการเข้าสู่ระยะที่3 ให้นานที่สุด และง่ายต่อการดำเนินการการควบคุมให้มีประสิทธิภาพ

นาย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน การประชุม คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ระบุว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่14

ยืนยันตอนนี้สถานการณ์ไทย ยังคงอยู่ระดับ2 คือ การแพร่ระบาดในวงจำกัด ส่วนตัวไม่มีปัญหา หากจะมีการประกาศ สถานการณ์โควิด-19 ให้เป็นโรคติดต่ออันตราย และเห็นว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่จะทำอย่างไรไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก ถึงแม้ตอนนี้สถานการณ์บ้านเรา ยังไม่ถึงระยะ3ก็ตาม

ทั้งนี้ การประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย อยู่ภายใต้การควบคุมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกคน บุคลกรทารการแพทย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้ความสามารถอำนาจหน้าที่ บังคับใช้กฎหมาย ในการควบคุมการระบาดของโรคนี้ ไม่ให้เพิ่มมากขึ้น โดยเรามีบทเรียนจากกรณีของเกาหลีใต้ ที่คนเพียงหนึ่งคนสามารถแพร่การะบาดในวงกว้างได้ โดย กระทรวงสาธารณสุขได้ใช้นโยบายในการควบคุม ป้องกัน บวกหนึ่งเสมอ ในการควบคุมการระบาด เพื่อให้เราอยู่นำหน้าสถานการณ์

พร้อมระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องปิดด่านชายแดน และจากการตรวจสอบในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ก็ไม่พบการลักลอบเข้ามา ทุกฝ่ายพยายามดำเนินตามมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอย่างดีที่สุด

.

ด้าน นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค บอกว่า ประกาศฉบับนี้ กำหนดให้ผู้ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ต้องเชื่อฟังบุคลากรทางการแพทย์ในการควบคุม กักกันโรค หากฝ่าฝืนบุคลากรทางการแพทย์สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ทันที ย้ำว่าประกาศฉบับนี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญป้องกันควบคุมโรค และช่วยชะลอการระบาดในระยะที่ 2 ให้ได้นานที่สุด และหากเข้าสู่ระยะที่ 3 ก็จะทำให้การแพร่ระบาดเป็นไปได้้ช้า จำนวนผู้ป่วยไม่มากจนเกินรองรับได้

สอดคล้องกับ ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค ระบุว่า ที่ผ่านมาเคยเกิดกรณีชาวต่างชาติ ปฏิเสธเข้ารับการรักษาภายในโรงพยาบาล หลังเจ้าหน้าที่พบเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ซึ่งทำได้เพียงขอความร่วมมือเท่านั้น แต่หลังจากนี้ไป หากเกิดกรณีเช่นนี้อีก จะใช้กฎหมายดำเนินการได้ เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลที่ปฏิเสธการรักษา แพร่เชื้อสู่บุคคลอื่นได้

โดยตามมาตรา 34 ( 1 ) ตามพระราชบัญญัติพ.ศ.2558 กำหนดให้ผู้ที่เป็น หรือ มีเหตุสงสัยเป็นโรคติดต่ออันตราย ต้องมารับการตรวจและรักษา หากไม่ยินยอม จะมีโทษทั้งจำและปรับ

สำหรับแนวทางหลังจากนี้ เมื่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ลงนามในประกาศแล้ว กรมควบคุมโรคจะส่งต่อไปยังคณะกรรมการกฤษฏีกา เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก่อนประกาศบังคับใช้ในวันถัดไป

ที่ผ่านมามี 13 โรคติดต่ออันตราย ที่ไทยประกาศเฝ้าระวัง ได้แก่กาฬโรค /ไข้ทรพิษ/ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก/ ไข้เวสต์ไนล์/ไข้เหลือง /โรคไข้ลาสซา /โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ /โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก / โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา/ โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา /โรคซาร์ส/โรคเมอร์ส / วัณโรคดื้อยา ชนิดรุนแรงมาก/ และล่าสุดลำดับ14 โรคโควิด-19