เฉลิมชัย ตั้งวอร์รูมภัยพิบัติ จี้ทุกหน่วยลงพื้นที่สำรวจความเสียหายภัยพิบัติทั้งแล้ง-ท่วม

รมว.เกษตร ห่วงลุ่มน้ำเจ้าพระยา น้ำเหนือหลากเพิ่มขึ้น สั่งกรมชลฯเฝ้าระวังใกล้ชิด เตือนประชาชนล่วงหน้า คุมน้ำปล่อยผ่านเขื่อนแบบขั้นบันได ไม่เกิน900ลบ.ม.ต่อวินาที ด้านลุ่มน้ำยม เตือนระดับน้ำมากท่วมชุมชนแนวสองฝั่งสุโขทัย-พิษณุโลก

0
1311

 

เฉลิมชัย ตั้งวอร์รูมภัยพิบัติ จี้ทุกหน่วยลงพื้นที่สำรวจความเสียหายภัยพิบัติทั้งแล้ง-ท่วม

รมว.เกษตร ห่วงลุ่มน้ำเจ้าพระยา น้ำเหนือหลากเพิ่มขึ้น สั่งกรมชลฯเฝ้าระวังใกล้ชิด เตือนประชาชนล่วงหน้า คุมน้ำปล่อยผ่านเขื่อนแบบขั้นบันได ไม่เกิน900ลบ.ม.ต่อวินาที ด้านลุ่มน้ำยม เตือนระดับน้ำมากท่วมชุมชนแนวสองฝั่งสุโขทัย-พิษณุโลก

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำเหนือที่มีปริมาตรมากไหลลงมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยาว่า ได้สั่งการให้กรมชลประทาน เฝ้าระวังปริมาณน้ำหลากอย่างใกล้ชิด และการปรับเพิ่มระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ไม่กระทบพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เกษตรที่ใกล้เก็บเกี่ยว ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่จังหวัดชัยนาทลงมาถึงพระนครศรีอยุธยามีระดับสูงขึ้น รวมทั้งอาจท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ แจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า ก่อนที่จะปรับเพิ่มการระบายแต่ละครั้ง อีกทั้งให้ติดตามสถานการณ์น้ำพื้นที่ที่ระดับน้ำสูงขึ้น แล้วบรรเทาผลกระทบและช่วยเหลือด้านต่างๆ ที่สำคัญคือ ป้องกันพื้นที่เกษตรในคันกั้นน้ำไม่ให้เสียหายเพื่อให้เกษตรกรได้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้

นอกจากนี้ ย้ำให้ทุกหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เข้าไปช่วยเหลือประชาชนและแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง โดยทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมงต้องเข้าไปดูแลตั้งแต่ขณะเกิดภัยและเร่งสำรวจความเสียหายทันทีที่น้ำลด รายงานมายังศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยของกระทรวงเกษตรฯ(วอร์รูมภัยพิบัติ )เพื่อสรุปสถานการณ์ พื้นที่ได้รับผลกระทบอุทกภัยและภัยแล้งที่ยังมีบางพื้นที่มีภาวะฝนทิ้งช่วง กำหนดมาตรการช่วยเหลือทุกพื้นที่ประสบภัย

.

ด้าน นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า น้ำเหนือปริมาตรสูงสุดจะมาถึงจังหวัดนครสวรรค์ในวันที่ 7 กันยายน แล้วจึงไหลมายังเขื่อนเจ้าพระยาซึ่งได้บริหารจัดการโดยแบ่งน้ำจากแม่น้ำน่านบางส่วนเข้าไปเก็บกักในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ และที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยาได้ทดให้ระดับน้ำสูงขึ้นเพื่อให้น้ำไหลเข้าไปในแม่น้ำและคลองชลประทานทั้ง 2 ฝั่งตามศักยภาพที่จะรับได้เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่เกษตรริมลำน้ำ จากนั้นจึงระบายออกท้ายเขื่อนเจ้าพระยาโดยวันนี้ระบายในอัตรา 750 ลบ.ม./วินาที โดยยังไม่เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายลุ่มเจ้าพระยาในคันกั้นน้ำ

ทั้งนี้ สาเหตุที่เร่งระบายน้ำเนื่องจากเป็นช่วงน้ำทะเลไม่หนุน ทำให้ระบายออกอ่าวไทยได้เร็ว และการเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยานั้น กว่าที่ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ลุ่มต่ำที่ไหลผ่านจังหวัดอ่างทองและพระนครศรีอยุธยาจะเปลี่ยนแปลงจะใช้เวลา 1-2 วันเพราะน้ำต้องใช้เวลาเดินทางจากจังหวัดชัยนาทมา ขอให้ประชาชนอย่าตระหนกตกใจเนื่องจากน้ำไม่ได้เอ่อล้นตลิ่งอย่างรวดเร็วทันทีที่เพิ่มการระบายน้ำ

“น้ำเหนือที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์เพิ่มขึ้นเนื่องจากน้ำเหนือจากแม่น้ำน่านและแม่น้ำยมมีมาก โดยน้ำแม่น้ำน่านได้ใช้บึงบอระเพ็ดหน่วงน้ำ ส่วนน้ำในแม่น้ำยมใช้ทุ่งทะเลหลวงและบางระกำโมเดลแบ่งน้ำออกไปแล้วซึ่งช่วยลดปริมาตรน้ำได้ สำหรับลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างมีพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยาซึ่งปลูกข้าวได้จัดสรรน้ำให้ปลูกข้าวก่อน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ขณะนี้ชาวนาเริ่มเก็บเกี่ยวแล้ว หากมีน้ำเหนือมาเพิ่มอีกระลอกสามารถผันน้ำเข้าไปเก็บกักได้ โดยพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งนั้นมีพื้นที่รวม 1.15 ล้านไร่ รับน้ำได้ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงไม่ต้องกังวลว่า จะเกิดอุทกภัยใหญ่และจะดูแลให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งหมด”อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

.

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า อิทธิพลของพายุ “โพดุล” ที่ทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบนของประเทศ ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ ปัจจุบันปริมาณฝนได้ลดลง แล้ว ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำยม ที่สถานีวัดน้ำ Y.14 บริเวณบ้านดอนระเบียง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย มีปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุดเมื่อเวลา 15.00 น. ของวานนี้(4 ก.ย.62) ในเกณฑ์ 1,043 ลบ.ม/วินาที มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่ ปตร.แม่น้ำยม(บ้านหาดสะพานจันทร์)ลดลงในลำดับต่อไป

สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำยมเช้าวันนี้         (5 ก.ย. 62) ที่สถานวัดน้ำ Y.64 ตำบลบางระกำ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เวลา 7.00 น. วัดปริมาณน้ำไหลผ่านได้ 386 ลบ.ม/วินาที ระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าตลิ่งเพียง 7 ซม. สถานการณ์น้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และเริ่มเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งในเขตชุมชนดังกล่าวบางแห่งแล้ว

“ขอแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ติดกับลำคลองน้ำไหล และแม่น้ำยมสายเก่า-คลองเมม-คลองบางแก้ว ในเขตตำบลวังวน/ ตำบลพรหพิราม/ ตำบลหนองแขม/ ตำบลท่าช้าง อำเภอพรหมพิราม และตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมือง /ตำบลบางระกำ/ ตำบลท่านางงาม อำเภอบางระกำ และชุมชนที่อยู่บริเวณแม่น้ำยมสายหลักในเขตพื้นที่ตำบลบางระกำ ในเขตเทศบาลบางระกำ/ ตำบล คุยม่วง/ ตำบลชุมแสงสงคราม/ ตำบลท่านางงาม/ ตำบลปลักแรด อำเภอบางระกำ ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวขนของไว้บนที่สูง หรือที่ปลอดภัย เพราะอาจเกิดภาวะน้ำเอ่อล้นตลิ่ง เข้าท่วมพื้นที่ชุมชนดังกล่าวได้”นายทวีศักดิ์ กล่าว

.

ขณะที่ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยอพยพสัตว์ออกจากพื้นที่ยังมีน้ำท่วมหลายจังหวัด มีสัตวแพทย์เข้าไปฟื้นฟูสุขภาพสัตว์ แจกจ่ายหญ้าแห้งให้แก่เกษตรกรเพื่อเป็นอาหารสัตว์ และในวันนี้จะร่วมกับเจ้าหน้าที่บรรจุถุงยังชีพสำหรับสัตว์ 2,000 ชุดที่ศูนย์ราชการกรมปศุสัตว์ ตำบลบางกะดี อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานีและจะทำพิธีปล่อยขบวนรถบรรทุกถุงยังชีพเพื่อนำไปมอบให้เกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยอย่างทั่วถึง

.

นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ได้ให้ประมงจังหวัดพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยสำรวจความเสียหายด้านประมงของเกษตรกร โดยเฉพาะผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังซึ่งเมื่อน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สัตว์น้ำอาจป่วยและตายฉับพลันได้ รวมทั้งหากมีน้ำท่วมอาจทำให้สัตว์น้ำหลุดออกจากกระชัง ซึ่งจะช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง รวมทั้งพิจารณามาตรการช่วยเหลือด้านต่างๆ เพิ่มเติมด้วย