เริ่มแล้ว!! เปิดเวทีซักฟอก 6 รัฐมนตรี

0
5212

“สมพงษ์” เฉ่งบริหารประเทศล้มเหลว 5 ข้อ ทำเศรษฐกิจประเทศเกิดตราบาป อัดแหลกทำตัวไร้วุฒิภาวะผู้นำประเทศ


เมื่อวันที่ 24 ก.พ. เวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา เกียกกาย นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติทั่วไปการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จำนวน 6คน ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ พล.อ.อนุงพษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

ก่อนเริ่มการอภิปราย นายชวน ได้ชี้แจงถึงหลักเกณฑ์การอภิปรายไม่ไว้วางใจต่างๆ ให้ที่ประชุมฟัง พร้อมระบุว่า การอภิปรายเรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนนั้น จะไม่อนุญาตให้อภิปรายได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนรัฐบาลชุดนี้จะเข้าบริหารประเทศ และเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบัน ไม่สามารถนำมาอภิปรายได้ตามรัฐธรรมนูญ ขอร้องให้ส.ส.ช่วยควบคุมบรรยากาศในสภาให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ไม่อภิปรายซ้ำซ้อนซ้ำซาก หรือใช้ถ้อยคำเสียดสีหยาบคาย

จากนั้นเวลา 13.45 น. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวนำการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า วันนี้คือ วันที่ 24 ก.พ. 2563 ฝ่ายค้านจำเป็นอย่างยิ่งต้องเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่อาจให้บริหารประเทศต่อไปได้ เนื่องจากความไร้ประสิทธิภาพ ความล้มเหลวในการบริหารประเทศ การทุจริต เอื้อประโยชน์พวกพ้อง การใช้อำนาจโดยมิชอบ ก่อให้เกิดความล้มเหลว 5 ประการต่อประเทศได้แก่ 1.ความล้มเหลวต่อการสร้างความเชื่อมั่นการเมืองในระบอบประชาธิปไตย กฎกติการัฐธรรมนูญมีการพูดกันว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างมาเพื่อพวกเรา อาศัยเสื้อคลุมประชาธิปไตยมากล่าวอ้าง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของท่านมิได้มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน แต่เพราะเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญที่สร้างมาเพื่อสืบทอดอำนาจนำพาให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เงื่อนไขกลไกรัฐธรรมนูญ บั่นทอนความเชื่อมั่นของนานาประเทศ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อความมั่นใจในการลงทุน เกือบทุกประเทศไม่เปิดใจยอมรับประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย จึงไม่อาจไว้วางใจให้อยู่ในตำแหน่งต่อไป เพื่อกร่อนเซาะระบอบประชาธิปไตยประเทศให้ถดถอยผิดรูปร่าง อับอายชาวโลก ไม่อาจไว้วางใจให้ส่งต่อประชาธิปไตยจอมปลอมถึงรุ่นลูกหลานที่เป็นอนาคตของชาติ

2.ความล้มเหลวในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ทำให้หลักความยุติธรรมแปลงร่างเป็นหลักกูและพวกพ้องอย่างไม่รู้สึกอับอาย เช่น ตีความข้อกฎหมายกับคะแนนปัดเศษ เพื่อเพิ่มช่องทางให้ได้พรรคเล็กมาหนุนเสริมอำนาจตน การถวายสัตย์ฯ ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ ที่เลวร้ายสุดคือการใช้คดีความเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งกดดันบุคคลบางกลุ่มเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อพวกท่าน ไม่คำนึงถึงการทำลายหลักความยุติธรรม ทำเรื่องผิดเป็นถูก เป็นคนเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ ทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์เฉพาะหน้าแห่งตน ไม่คิดถึงอนาคตประเทศ

3.ความล้มเหลวการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ขอแบ่งช่วงเวลาที่สะท้อนความล้มเหลวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจเป็น 4 ช่วงคือ ระยะที่1 พ.ศ. 2557-2558 ทำลายเศรษฐกิจฐานราก ยกเลิกมาตรการสนับสนุนสินค้าการเกษตรเกือบทั้งหมดแบบกระทันหัน เพราะกลัวถูกกล่าวหาเป็นประชานิยม ระยะที่ 2 พ.ศ. 2559-2560 หลังยึดอำนาจ เริ่มแสวงหาประโยชน์ให้พวกพ้องบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีส่วนได้ส่วนเสียใกล้ชิดกับรัฐบาลได้ประโยชน์ถ้วนหน้า ทั้งโครงการอีอีซี โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การก่อสร้างรถไฟ 3 สนามบิน ที่เอื้อธุรกิจขนาดใหญ่ไม่กี่ราย ระยะที่ 3 พ.ศ. 2561-2562 ก่อนและหลังเลือกตั้ง เรียกว่า “สารพัดแจกมั่วซั่ว เพื่อการสืบทอดอำนาจ” ด้วยความอยากมีอำนาจ และกลัวสูญเสียอำนาจ ออกมาตรการซื้อเสียงล่วงหน้า เช่น เพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการชิมช็อปใช้เฟสต่างๆ ระยะที่ 4 พ.ศ. 2562-2563 ทุ่มให้สินเชื่อแต่ไร้กำลังซื้อ ไม่เข้าใจว่าช่วงเวลาใดประเทศต้องการอะไร ตราบาปที่ทำกับเศรษฐกิจประเทศถูกจารึกว่าคนชื่อพล.อ.ประยุทธ์ ทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจประเทศ

4.ล้มเหลวปราบปรามการทุจริต ข้อมูลที่ยืนยันความล้มเหลวการปราบทุจริต ของรัฐบาลคือ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เผยแพร่ดัชนีภาพลักษณ์การคอรัปชั่นทั่วโลก ปี2561 ปรากฏว่า ประเทศไทยถูกลดอันดับจากอันดับ 96 ปี 2560 เป็นอันดับ 99 ที่น่าเศร้าใจสุดคือ ความรุนแรงของการคอรัปชั่นกันในกองทัพ ทำธุรกิจหาประโยชน์กันในกองทัพ กลายเป็นต้นเหตุโศกนาฏกรรมกราดยิงที่โคราช ท่านอาจแกล้งหรี่ตามองไม่เห็นเพราะคนที่ทำเป็นคนแวดล้อม แต่ตนไม่อาจทนเห็นการโกงเงินภาษีประชาชนเป็นแสนล้าน ในวันที่ประชาชนลำบากยากเข็ญอีกต่อไปได้

และ5.ล้มเหลวในภาวะความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี สังคมไทยรับรู้มาระยะหนึ่งว่า เราเป็นประเทศมีนายกฯเป็นตัวตลก น่าอับอายต่อนานาประเทศ การแสดงวิสัยทัศน์และความเห็นต่างๆ แสดงถึงความด้อยซึ่งปัญญา ไม่เหมาะสมหลายครั้ง เช่น การทุบโต๊ะ โยนของใส่ผู้สื่อข่าว มองเห็นคนเห็นต่างเป็นศัตรู ชอบก่นด่าเมื่อถูกซักถาม สะท้อนวุฒิทางปัญญาและอารมณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่อาจไว้วางใจให้คนซึ่งประกาศตัวว่า มีเซลล์สมอง 84,000 เซลล์ บริหารประเทศได้ ท่ามกลางความล้มเหลวต่อความเชื่อมั่นของประชาชน

“จากที่กล่าวมาทั้งหมด จึงไม่อาจไว้วางใจให้พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศต่อไป เพราะตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาล ไม่เห็นศักยภาพด้านการบริหาร หรือเป็นนักยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่ผู้นำประเทศควรมี แต่ทำได้เพียงแค่นักธุรการทั่วไป ทำหน้าที่แค่ใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน แต่ไม่รู้จักวิธีหารายได้เข้าประเทศ บริหารประเทศบนพื้นฐานของอารมณ์และความรู้สึก มิได้บริหารบนพื้นฐานของความรู้ ดังนั้นผมไม่อาจไว้วางใจให้บริหารประเทศแล้วทำให้ลูกหลานในอนาคต ต้องรับมอบประเทศไทยที่เป็นซากปรักหักพังต่อจากคนรุ่นเรา”นายสมพงษ์ กล่าว