กรมหม่อนไหมสานต่อความร่วมมือด้านการตลาดและการรับรองมาตรฐานสินค้าผ้าไหมยกดอกลำพูน GI และตรานกยูงพระราชทาน

0
9861

นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม ตรวจเยี่ยมการผลิตผ้าไหมและกระบวนการตรวจรับรองสินค้าผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานและมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ผ้าไหมยกดอกลำพูน เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 ณ สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน (อบจ.ลำพูน) พร้อมเดินหน้าประสานความร่วมมือระหว่างกรมหม่อนไหมกับ อบจ.ลำพูน ในการพัฒนาผ้าไหมยกดอกลำพูน ตั้งแต่การผลิตจนถึงการจำหน่าย ซึ่งนอกจากช่องทางการตลาดที่ อบจ.ลำพูนได้ทำอยู่แล้ว กรมหม่อนไหมจะนำผ้าไหมยกดอกลำพูนไปร่วมแสดงและจำหน่ายในงานต่าง ๆ เพื่อให้คนทั่วไปได้สัมผัสความสวยงามวิจิตรบรรจงของผ้าไหมยกดอกลำพูน ผ้าไหมสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ประเภทแรกของประเทศไทย


อบจ.ลำพูน เป็นหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือกับกรมหม่อนไหมในการนำมาตรฐานดังกล่าวเข้ามาใช้ในการพัฒนาสินค้าผ้าไหมให้มีคุณภาพ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า และปกป้องภูมิปัญญาของชุมชนไม่ให้สูญหาย ผ่านกลไกของการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการ ช่างทอผ้า ปราชญ์ชาวบ้าน ครูภูมิปัญญา โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เข้ามามีบทบาทในฐานะพี่เลี้ยง จนทำให้สินค้าผ้าไหมยกดอกลำพูน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ชนิดผ้าไหม เป็นประเภทแรกของประเทศไทย จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เมื่อปี 2560 ซึ่งกรมหม่อนไหมได้เข้าไปมีบทบาทในการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิชาการ บุคลากรและงบประมาณ ควบคู่ไปกับการผลักดันให้เกิดการผลิตผ้าไหมยกดอกลำพูนให้ผ่านมาตรฐานตรานกยูงพระราชทาน จากกรมหม่อนไหม
ภายหลังความสำเร็จดังกล่าวแล้ว กรมหม่อนไหมและ อบจ.ลำพูน ยังได้สานต่อความร่วมมือในการพัฒนาสินค้าไหมร่วมกันมาโดยตลอด ทำให้ปัจจุบัน สินค้าผ้าไหมยกดอกลำพูน กลายเป็นสินค้าผ้าไหมที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จากประเทศอินโดนีเชีย และประเทศอินเดีย จนทำให้เกิดความภาคภูมิใจแก่ผู้ผลิต ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ช่างทอผ้า และผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก และที่สำคัญคือ ผ้าไหมยกดอกลำพูน มีโอกาสได้เป็นเครื่องแต่งกายในโอกาสสำคัญ ๆ ระดับประเทศ


ถือได้ว่าเป็นงานหัตถศิลป์ชั้นเอกที่สามารถสร้างรายได้สูงแก่ผู้ผลิตได้เป็นอย่างดี ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้แก่ประเทศทั้งระบบ และสร้างภาพลักษณ์ให้คนหันมาสวมใส่ผ้าไหมกันมากขึ้น นับเป็นความสำเร็จที่กรมหม่อนไหมร่วมกับ อบจ.ลำพูน ได้ประสานความร่วมมือกันจนเกิดรูปธรรมที่ชัดเจน สามารถเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่น ๆ สามารถพัฒนาสินค้าของตนเองให้โดดเด่นและก้าวหน้า เป็นสินค้าจากท้องถิ่นสู่สากล (From Local to Global) อย่างแท้จริง