สธ. ยืนยัน เตียงมีเพียงพอรักษาผู้ป่วยโควิด-19

0
5190

กระทรวงสาธารณสุข ยืนยัน เตียงมีเพียงพอในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดย เตรียมเตียง รองรับ ผู้ป่วยโควิด-19 หากมีจำนวนเพิ่มขึ้น กว่า7000 เตียงทั่วประเทศ รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชน รัฐ พร้อมให้โรงพยาบาล จัดตั้ง คลีนิคเฉพาะคัดกรองผู้ป่วย โควิด-19 ส่วนการเตรียมความพร้อมเรื่องยา ขณะนี้สำรองยา และนำเข้ายาฟาวิพิลาเวียร์จากประเทศญี่ปุ่นแล้ว 40,000เม็ดเตรียมกระจายไปยังโรงพยาบาล

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ขณะนี้กระทรวงเตรียมความพร้อมของบุคลากร เครื่องมือทางการแพทย์ และเตียงรองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ไว้พร้อมแล้ว หากโรงพยาบาลใดขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขอให้แจ้งมายังกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้รับสนับสนุนงบประมาณกลางจากรัฐบาล เพื่อมาสนับสนุน จัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อจัดส่งไปให้กับโรงพยาบาลแต่ละแห่ง

โดยในวันศุกร์ที่ 20 มีนาคมนี้ จะเชิญโรงพยาบาลเครือข่ายทุกหน่วยงาน ร่วมกันจัดทำแผนรองรับผู้ป่วยทั้งเรื่องบุคลากร เตียง ยาเวชภัณฑ์ เพื่อดูแลประชาชนอย่างดีที่สุดตามนโยบายของรัฐบาล

ส่วนค่ารักษาพยาบาลของรพ.เอกชน ได้ให้กรมการค้าภายใน มาช่วยคิดค่าใช้จ่ายเพื่อให้มีราคาที่เหมาะสม ยืนยันว่า ผู้ป่วยโควิดที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน ไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย หากผู้ป่วยรายใดถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลแพงให้แจ้งมายังสายด่วน 1422 หรือ 1669 หรือติดต่อผ่านช่องทางอื่นของกระทรวงสาธารรณสุขได้

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุด้วยว่ากรณีที่มีผู้ป่วยมีเจตจนาแพร่เชื้อ คุกคามทำร้าย ข่มขู่ บุคลากรทางการแพทย์ กระทรวงจะดำเนินคดีตามกฎหมายจนถึงที่สุด และมีความผิดทางอาญา ขอให้เข้าใจว่าบุคลากรทุกคนยินดีให้บริการ และทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งกระทรวงจะปกป้องบุคลากรทุกคน

ส่วนการรับรองชุดตรวจโควิด-19 ของเอกชน และสถาบันการศึกษา ขณะนี้รับรองไปแล้ว 5 ราย และจะทยอยรับรองอีกไม่เกิน 2 สัปดาห์นี้ แต่ที่ผ่านมาหลายแหงที่มาขอยื่นรับรองตรวจแล้วก็ไม่ผ่านมาตรฐาน

.

ด้านนายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ยืนยันว่า หากแต่ละวันมีผู้ป่วยอยู่ที่ประมาณ100 คน มั่นใจว่า มีจำนวนเตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วย ซึ่งขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลเครือข่ายต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข / กรมการแพทย์ / คณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลสังกัดกทม. ซึ่งขณะนี้เฉพาะพื้นที่กทม. เตรียมเตียงไว้แล้วประมาณ 300 เตียง ซึ่งแบ่งมาจากเตียงผู้ป่วยปกติ ขณะที่ต่างจังหวัด มีอยู่กว่า 5 พันเตียง โดยทั่วประเทศจัดเตรียมเตียงรอบรับผู้ป่วยไว้มากกว่า 6000-7000 เตียง ซึ่งจำนวนเตียงจะเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์

ส่วนการกระจายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลแต่ละแห่งนั้น ในเขตกทม. โรงพยาบาล ราชวิถี จะเป็นศูนย์บริหารจัดการเตียง รวมทั้ง จัดลำดับคิว กระจายผู้ติดเชื้อไปโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละคน หากมีผู้ป่วยอาการหนักก็จะถูกนำตัวเข้าห้องแยกโรค

พร้อมขอความร่วมมือโรงพยาบาลทุกสังกัด ทำความเข้าใจกับผู้ป่วย ขอเลื่อนนัดในกรณีผู้ป่วยที่ไม่มีความซับซ้อนออกไปก่อน หรือ ให้รับยาใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมทั้ง ปรับเพิ่มจำนวนยาให้มากขึ้น เพื่อลดความถี่มาโรงพยาบาล และลดการติดเชื้อเพิ่มในโรงพยาบาล

นอกจากนี้ ยังประเมินสถานการณ์หากในอนาคตพบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมาก จะให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล และประเมินอาการภายใน 48 ชั่วโมง หากพบอาการไม่รุนแรง จะส่งผู้ป่วยไปเฝ้าระวังต่อที่สถานที่พัก หรือ โรงแรม ที่จัดให้ ซึ่งจะมีบุคลากรทางการแพทย์คอยดูแล โดยแพทย์ พยาบาล 1 ชุด จะดูแลผู้ป่วย 50 เตียง

และหากพบการระบาด รวมทั้ง มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในกรุงเทพมหานครอย่างรวดเร็ว ได้เตรียมการรองรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลชานเมือง ได้แก่ โรงพยาบาลบางขุนเทียน ซึ่งมี 30 เตียง เปิดให้บริการแล้ว โรงพยาบาลทุ่งสีกัน โรงพยาบาลวิภารามชัยปราการ โรงพยาบาลมงกฎวัฒนะ โรงพยาบาลศรัญญา โรงพยาบาลจักรีนฤบดินทร์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ศาลายา รองรับไว้แล้ว

ทั้งนี้ ยังได้ประสานไปยังแพทย์ พยาบาล กลุ่มที่ทำงานด้านสาธารณสุข ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว รวมทั้ง บุคลากรสาธารณสุขที่ไม่ได้มีภระงานหนัก ให้มาร่วมช่วยดูแลผู้ป่วย

ส่วนการเตรียมความพร้อมเรื่องยา ขณะนี้สำรองยา และนำเข้ายาฟาวิพิลาเวียร์จากประเทศญี่ปุ่น 40,000เม็ด รักษาผู้ป่วย ได้ 700 คน แบ่งกระจายไปยังโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งเป็นศูนย์รวมการกระจายผู้ป่วยและกระจายยา จำนวน 10,000 เม็ด / กรมการแพทย์ 10,000 เม็ด และโรงพยาบาลศูนย์ต่างๆ

สำหรับสูตรยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยขณะนี้ มี 4 สูตร ได้แก่ 1. สูตรยาต้านไวรัส HIV ร่วมกับยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ / สูตรที่ 2 ยาต้านไวรัส HIV ร่วมกับยาต้านไวรัสจากประเทศจีน สูตรที่ 3 สูตรยาต้านไวรัส HIV ร่วมกับยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ และยาควอโรควิน และสูตรที่ 4 สูตรยาต้านไวรัส HIV ร่วมกับยาต้านไวรัสจากประเทศจีน และยาควอโรคริน

สำหรับ การจัดหอผู้ป่วยเฉพาะราย
ห้อง Airborne Infection Isolation Room (AlR) หรือห้องแยกโรคความดันลบ ประกอบด้วย โรงพยาบาลราชวิถีโรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี สถาบันโรคทรวงอก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลสงฆ์ โรงพยาบาลของ UHOSNET กรุงเทพมหานคร และกระทรวงกลาโหม

ขณะที่ การจัดตั้งหอผู้ป่วยรวมเฉพาะผู้ป่วยโควิด- 19 หรือ cohort ward ในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตนราชรานี สถาบันโรคทรวงอก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และโรงพยาบาลสงฆ์